Education Technology Development and Integration Support (ETS)
สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลกระทบต่อการเรียนการสอนในชั้นเรียนปกติ แต่ด้วยความทุ่มเทของเหล่าอาจารย์ที่ได้สร้างสรรค์วิธีการเรียนรู้ใหม่ๆ ผ่านการออกแบบห้องเรียนออนไลน์ ทำให้การเรียนรู้ของชาว มจธ. ยังคงดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง ถึงแม้จะต้องกักตัวอยู่ในบ้านยาวนานสักแค่ไหนก็ไม่เป็นอุปสรรคสำหรับการเรียนการสอน
ETS ชวนอาจารย์หลายท่านมาร่วมกันแบ่งปันเทคนิค วิธีการในการสร้างห้องเรียนออนไลน์ให้มีประสิทธิภาพไม่ต่างจากห้องเรียนปกติ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือที่จำเป็นใน การสร้างกิจกรรมการเรียนรู้ กระตุ้นบรรยากาศการมีส่วนร่วม การประเมินผล ฯลฯ และเคล็ดลับอื่น ๆ อีกมากมาย ที่จะจุดประกายไอเดียใหม่ ๆ ให้ห้องเรียนออนไลน์ของคุณน่าสนใจมากขึ้น มาลองติดตามกันเลย
ระบบที่ใช้สอนออนไลน์ผมเลือก Microsoft Teams เพราะมี Account Microsoft 365 ของมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว ที่ผ่านมาค่อนข้างใช้งานได้ดีและเสถียรจึงใช้งานต่อเนื่องมาโดยตลอด สำหรับอุปกรณ์ที่ใช้ก็มีคอมพิวเตอร์และ iPad โดยผมจะแชร์หน้าจอคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คให้นักศึกษาเห็นผมบน Microsoft Teams และแชร์ผ่าน iPad อีกจอ เพื่อเขียนอธิบายเนื้อหาให้ นักศึกษาได้เห็นพร้อม ๆ กัน ในการส่งงานหรือส่งการบ้านผมให้นักศึกษาส่งผ่านระบบ LEB2 มาตั้งแต่ก่อนช่วงสถานการณ์ COVID-19 แล้ว เพราะฉะนั้นในส่วนนี้อาจไม่ได้กระทบกับผมเท่าไหร่
ข้อดีของการสอนออนไลน์ คือ นักศึกษากล้าที่จะมีส่วนร่วมในการเรียนการสอนมากขึ้น เวลาเขาไม่เข้าใจตรงไหนก็จะพิมพ์เข้ามาใน Chat หรือ เปิดไมค์ถาม ซึ่งจำนวนนักศึกษาที่ถามใน Class ออนไลน์บางครั้งมากกว่าในห้องเรียนจริง ๆ เสียอีก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะไม่มีคนเห็นตอนที่ถาม หรือใช้การพิมพ์ได้ง่าย จึงไม่รู้สึกอายเพื่อนเวลาที่จะบอกอาจารย์ว่าไม่เข้าใจตรงไหน
อุปสรรคก็มีอยู่บ้างตรงที่สัญญาณอินเทอร์เน็ตของทั้งอาจารย์และนักศึกษา จะมีบ้างที่ภาพ Delay ภาพกระตุก หรือเสียงอาจจะหายไปบ้าง นักศึกษาก็จะทักมาบอกอาจารย์ให้ช่วยอธิบายใหม่ ทำให้เราทราบได้ว่านักศึกษาสนใจและเข้าใจหรือไม่
สิ่งที่ผมเป็นห่วงและอยากให้มี คือ ระบบการสอบออนไลน์ที่ใช้ได้เหมือนกันทั้งมหาวิทยาลัย เพราะถ้าแต่ละวิชา แต่ละคณะใช้ระบบการสอบต่างกัน นักศึกษาที่เรียนหลายวิชาก็จะต้องเรียนรู้การใช้งานแต่ละระบบที่แตกต่างกันออกไป กลายเป็นภาระของนักศึกษาที่ต้องกังวลทั้งเรื่องระบบการสอบและเนื้อหาวิชาที่สอบครับ
ในช่วงที่มีสถานการณ์ COVID-19 ผมเลือกใช้สอนออนไลน์โดยผ่าน App Zoom Meeting เป็นหลัก เพราะจัดการได้ง่าย ไฟล์มีขนาดเล็ก ผมจะนำไฟล์ที่ได้จากการสอนแบบ Live สดไป Upload ไว้ บน Channel YouTube ของผมเองซึ่งก่อนหน้าจะมีโควิดผมก็ใช้ช่องทางนี้ในการใส่วิดีโอสื่อการสอนให้นักศึกษาได้เข้ามาดูเพื่อเตรียมตัวหรือทบทวนเนื้อหาของบทเรียนอยู่แล้ว
ผมเลือกใช้ Zoom Version ฟรี เพื่อบังคับตัวเองให้สอนไม่เกิน 40 นาที ต่อคลิป จากนั้นจะให้นักศึกษาไปพักหรือทำกิจกรรมการเรียนรู้ แล้วกลับมาเรียนต่อ อีกไม่เกิน 40 นาที ทำอย่างนี้จนหมดคาบ ซึ่งในหนึ่งคาบจะได้วิดีโอการสอนประมาณ 3-4 คลิป
อุปกรณ์ที่ใช้สอน ผมใช้ Microsoft Surface ควบคู่ไปกับคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์ มือถือบ้างในบางครั้ง
เรื่องการส่งงานหรือการบ้าน ผมใช้ระบบ LEB2 ในการส่ง Assignment และ Learning Activity ต่าง ๆ เพราะระบบนี้ค่อนข้างเจ๋งตรงที่สามารถจับเวลาคนที่ส่งงานช้ากว่ากำหนดได้ และระบบยังบอกด้วยได้ด้วยว่าตอนนี้มีคนส่งการบ้านแล้วกี่คน ยังขาดอยู่อีกกี่คน ใครบ้างที่ยังไม่ส่ง อันนี้ผมว่าดี
เรื่องการมีส่วนร่วมในการเรียนผมใช้ Google Form เพื่อให้ส่งความคิดเห็นหลังจบการเรียน และยังใช้ให้คะแนน Bonus Point สำหรับคนที่เข้ามาตอบคำถามระหว่างเรียนอีกด้วย
ในช่วง COVID-19 ผมใช้โปรแกรมของ Google ในการเรียนการสอนทั้งหมด เช่น Google Classroom Google Hangouts YouTube ฯลฯ เพราะมันเบ็ดเสร็จทุกกิจกรรมการเรียนการสอนในที่เดียวและ มี User Interface ที่ใช้งานง่ายไม่ซับซ้อนส่วนใหญ่ผมจะใช้ Classwork ใน Google Classroom สำหรับตรวจการบ้านและให้คะแนนนักศึกษา โดยฟีเจอร์ Homework Video Quiz ฯลฯ ซึ่งลิงก์กับ Google Calendar ได้ด้วย ระบบจัดการคะแนนก็เป็นที่เข้าใจตรงกันทั้งนักศึกษาและอาจารย์
ในหนึ่งสัปดาห์นักศึกษาจะต้องทำ 3 อย่างคือ ดูวิดีโอ ทำการบ้าน และทำแบบทดสอบ Quiz โดยผมจะบันทึกวิดีโอสื่อการสอนแปะไว้บน YouTube ในแต่ละอาทิตย์โดยนักศึกษาจะไปดูตอนไหนก็ได้ จากนั้นนัดสอนแบบ Live บน Google Hangouts ในเวลาเรียนปกติ โดยเปิดโอกาสให้นักศึกษาเปิดไมค์ยกมือถามอาจารย์ข้อสงสัยเนื้อหาในวิดีโอที่ดูมา จากนั้นก็จะนัดสอบ Quiz ช่วงเย็นวันนั้นเลย ในการ Quiz ผมจะล็อกเวลาในการส่ง Quiz เอาไว้ โดยเผื่อเวลาเอาไว้ 5 -10 นาที สำหรับการแปลงไฟล์เป็น PDF แล้ว Upload ขึ้น Google Classroom ส่วน Application อื่น ๆ ที่ใช้ก็มี Explain Everything ใน iPad สำหรับการบันทึกวิดีโอการสอนของผมอีกด้วย
ปัญหาที่พบอยู่บ้างคือ เนื้อหาวิชาที่ผมสอนค่อนข้างซับซ้อน ในหนึ่งบทเรียนอาจจะต้องบันทึกวิดีโอพลิกแพลงหลายตลบ เช่น บันทึกวิดีโอซ้อนเข้าไปในอีกวิดีโอหนึ่ง ซึ่งอาจทำให้วิดีโอยาวกว่าการสอนปกติ และต้องเพิ่มตัวอย่างในการอธิบายมากขึ้น ลงรายละเอียดให้มากที่สุด ซึ่งก็พอช่วยได
ตอนนี้ใช้ Microsoft Team ในการเรียนการสอน เพราะทางมหาวิทยาลัยมีลิขสิทธิ์ของ Microsoft ให้ ซึ่งที่ผ่านมาก็ใช้งานได้ดีอยู่จึงยังไม่เปลี่ยน นอกจากนั้นยังใช้งาน Google Hangouts ในการสอบสัมภาษณ์นักเรียน ม.6 ที่สมัครเข้าเรียนที่คณะเนื่องจากเป็น Freeware ที่นักเรียนไม่ต้องมีอีเมลของ มจธ. ก็เข้าใช้งานได้
อุปกรณ์ที่ใช้ในการเรียนการสอน คือ Notebook iPad และปากกาเขียน iPad วิชาที่อาจารย์สอนเป็นวิชาเกี่ยวกับระบบ การเขียนโปรแกรม ในการแชร์หน้าจอโดยตรงผ่านระบบ Microsoft Team บางครั้งอาจจะมีปัญหาอยู่บ้าง อาจารย์เลยแก้ปัญหาด้วยการใช้ iPad เพิ่มด้วย สามารถลดปัญหานี้ไปได้ ซึ่งตอนนี้ก็ไม่พบปัญหาอื่น ๆ แล้ว
การทำ Quiz อาจารย์จะใช้หลาย Platform ทั้ง Microsoft Team และ Google Form ซึ่งแต่ละ Platform ก็จะมีจุดเด่นจุดด้อยแตกต่างกันไป ต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับแต่กิจกรรมการเรียนรู้ในรายวิชา
ทุกวันนี้ยังนัดหมายนักเรียนเรียนออนไลน์ตามตารางสอนปกติอยู่ เพราะนักศึกษาต้องเรียนวิชาอื่นด้วย การย้ายเวลาเรียนอาจจะกระทบกับวิชาอื่น ๆ
ผมเลือกใช้ App Zoom Meeting เป็นหลัก สำหรับ Class เรียนที่มีนักศึกษาเยอะ ๆ ส่วน Microsoft Team ก็ใช้บ้าง สำหรับ Class ที่มีนักศึกษาน้อย ๆ วิชาทฤษฎีจะใช้การสอนผ่าน Zoom โดยใช้ App GoodNotes ใน iPad ร่วมด้วยซึ่งจะมีข้อจำกัดอยู่บ้างในเรื่องของการเปิดวิดีโอ จะทำให้นักศึกษาไม่เห็นลูกศรเวลาที่เราชี้บน iPad ก็จะเปลี่ยนมาใช้บน Desktop แทน
ส่วนวิชาปฏิบัติจะให้ช่างเทคนิคอธิบายการใช้เครื่องมือต่างๆ แล้วบันทึกคลิปให้ดู จากนั้น Upload ผ่าน YouTube เพื่อให้นักศึกษาเข้ามาดู ตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนเสร็จ ผมเองก็จะอธิบายเพิ่มซึ่งอาจจะช่วยได้เรื่องความเข้าใจพื้นฐานแต่ทักษะอื่นๆ เช่น การทำงานเป็นทีมอันนี้เป็นสิ่งที่ยังไงการสอนออนไลน์ก็ทดแทนไม่ได้ กรณีที่มีงานกลุ่ม ใช้การ Breakout Room นักศึกษาออกมาเป็นกลุ่มๆ ใน Zoom แล้วเข้าไปให้คำปรึกษาทีละกลุ่มได้
ผมเคยสอบออนไลน์ไปแล้วครั้งหนึ่ง โดยคุมสอบผ่าน Zoom โดยแจกข้อสอบเป็นข้อๆ (ไม่ได้ให้เป็นชุดเหมือนสอบปกติ) ผ่าน Zoom ผ่าน Facebook โดยนักศึกษาจะทำที่ไหนก็ได้ เช่น คอมพิวเตอร์ iPad หรือแม้แต่เขียนบนกระดาษ เมื่อนักศึกษาทำเสร็จสามารถ Capture หน้าจอ หรือแม้แต่ถ่ายรูป แล้วให้ส่งคำตอบเข้าไปที่ Assessment Activity ใน LEB2 ซึ่งมีกำหนดเวลาให้ในแต่ละ Assessment Activity ต่อข้อสอบ 1 ข้อ นักศึกษาจะได้ไม่งง การสอบบน LEB2 ข้อดีคือตรวจง่ายและให้คะแนนบนระบบนี้ได้เลย ผมเคยสอบสูงสุด 55 คน ใช้วิธีสลับหน้าจอไปมาเพื่อสอดส่องการทำข้อสอบของนักศึกษาในการคุมสอบในห้องปกติ แต่อาจจะต้องบอกนักศึกษาว่าตั้งกล้องอย่างไร เพราะบางครั้งเด็กๆ ก็มีพิรุธเหมือนกัน เช่น พิมพ์ Chat คุยกันเป็นคู่ๆ ก็ต้องตักเตือนกันไป ข้อสอบที่ผ่านมาเป็นแบบ Open Books โดยให้เลือกคำตอบและแสดงความคิดเห็น ซึ่งเราสามารถตรวจสอบได้ว่ามีการทุจริตได้เพราะการแสดงความคิดเห็นไม่ควรเหมือนกันหรือใช้วิธีแบ่งกลุ่มในการทำข้อสอบย่อยๆ โดยใช้รหัสนักศึกษาตัวท้ายก็จะช่วยป้องกันได้ส่วนหนึ่ง
ปัญหาและอุปสรรคสำหรับการเรียนการสอนออนไลน์ที่พบคือ ก่อนหน้าสถานการณ์ COVID -19 จะให้นักศึกษาใช้ Licensed Software ของมหาวิทยาลัย เช่น Drawing ซึ่งนักศึกษาสามารถเข้าไปที่ห้องคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัยเพื่อใช้โปรแกรมดังกล่าวได้ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้นักศึกษาจึงไม่มีสิทธิ์ได้ใช้ ดังนั้นมหาวิทยาลัยอาจจะต้องช่วยหาวิธีให้เข้าใช้โปรแกรมโดยดาวน์โหลดมาใช้ข้างนอกได้ หรืออาจจะให้ใช้งานผ่านการ VPN
การเรียนออนไลน์ชดเชยการเรียนแบบภาคปฏิบัติไม่ได้ ดังนั้นในอนาคตหากเกิดเหตุการณ์แบบนี้อีกเราอาจจะลดเวลาในการเรียนแบบ Lecture แล้วเพิ่มเวลาในการลงเรียนแบบภาคปฏิบัติมากขึ้น ในที่นี้หมายถึงลดจำนวนนักศึกษาต่อหนึ่ง Section เพื่อง่ายต่อการเรียนการสอนและทำ Social Distancing ไปด้วย ซึ่งต้องเพิ่มเวลาในการสอนปฏิบัติ และลดเวลาสอน Lecture ลง โดยอาจจะปรับมาสอน Lecture เป็นแบบ Online ส่วนใน ห้องเรียนให้เปลี่ยนแบบ Active Learning มากขึ้นด้วยการปฏิบัติ
5 ไอเดียสำหรับจัดกิจกรรม Ice Breaking สุดปัง
ที่จะช่วยสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ และปลุกพลังการทำงานเป็นทีมให้ทุกคน
เปิดเทอมรอบนี้ทั้งผู้สอนและผู้เรียนก็ต่างรอคอยบรรยากาศของการได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกันอีกครั้ง แต่หลายคนก็อาจจะเกิดคำถามว่าจะต้องทำอย่างไรให้บรรยากาศของการพูดคุยกันในชั้นเรียนใหม่นั้นเป็นไปโดยผ่อนคลายและสนุกสนานที่สุด
ห้รู้จักกับ 5 ไอเดียการจัดกิจกรรม Icebreaking ง่ายๆ ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับห้องเรียนออนไลน์ได้ ตามมาดูกันเลย
Table topics ดั้งเดิมคือเซ็ทไพ่ที่วางขายอยู่ทั่วไปในร้านค้าออนไลน์ ไพ่แต่ละใบจะมีคำถามสำหรับใช้เริ่มต้นบทสนทนา และทุกๆ เซ็ทจะมีคำถามกว่าร้อยข้อ Table topics เป็นตัวเลือกที่ดีตัวเลือกหนึ่งสำหรับการให้ผู้เรียนได้มีโอกาสทำความรู้จักกัน หรือเริ่มต้นหารือในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
ตัวอย่างของคำถาม:
- บนโลกนี้มีสิ่งที่สมบูรณ์แบบจริงๆ หรือไม่
- ถ้ามีเวลา 1 อาทิตย์ จะเลือกกลับไปในอดีต หรือลองไปอนาคต
- ขอ 3 คำให้กับอนาคตของตัวเอง
- อะไรคือนิยามของคำว่า “รวย”
- มีอะไรบ้างที่ตัวคุณในวันนี้ทำได้ ทั้งๆ ที่เมื่อ 1 ปีที่แล้วยังทำไม่ได้
ผู้สอนสามารถประยุกต์ตั้งคำถามที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อในบทเรียนของตัวเองได้โดยกำหนดคำถามเอาไว้ด้วยตัวเอง หรือใช้ ตัวอย่างคำถาม
1. ผู้สอนเขียนคำถามลงในกระดานสนทนา หรือขอให้ผู้เรียนช่วยกันเขียนไอเดียของตัวเองลงไป หรือใช้ เครื่องมือสุ่มคำถาม
2. แบ่งผู้เรียนเป็นกลุ่ม แต่ละกลุ่มจะได้รับคำถามที่ทุกๆ คนสามารถตอบได้ แล้วให้ผู้เรียนทำกิจกรรมตอบคำถามร่วมกันใน Breakout rooms
- Breakout rooms (ซึ่งมีอยู่ในเครื่องมือสำหรับการประชุม อย่างเช่น Zoom, Google Meet หรือ MS Teams)
- Whiteboards และกระดานสนทนาออนไลน์ เช่น Whiteboard.chat
- เครื่องมือสุ่มคำถาม เช่น Conversationstarters
ด้วยความที่เกมนี้เป็นเกมที่ปลุกทั้งความคิดสร้างสรรค์ และความร่วมมือกัน
Storytelling จึงเป็นเกมที่เหมาะมากทั้งสำหรับกิจกรรม Icebreaking และ Team-building
1. ก่อนเริ่มทำกิจกรรม เตรียมกระดานเอาไว้ สำหรับการเรียนออนไลน์สามารถใช้ Google Docs หรือเครื่องมืออื่นๆ เพื่อสร้างกระดานที่สามารถแสดงรูปภาพได้ ในแต่ละหน้าใส่รูปภาพเอาไว้ 4 รูป
2. แบ่งผู้เรียนออกเป็นกลุ่มๆ ละ 4 คน ซึ่งทุกกลุ่มจะได้รับไฟล์รูปภาพที่เตรียมไว้
3. กำหนดเวลา 10 นาที ให้ผู้เรียนแต่งเรื่องขึ้นมาจากรูปภาพทั้ง 4 รูป
4. เมื่อหมดเวลา ให้แต่ละกลุ่มเล่าเรื่องราวของตัวเอง กลุ่มละ 3 นาที โดยผู้สอนสามารถถามกลุ่มอื่นๆ ได้ว่าถ้าเป็นตัวเองจะเพิ่มเติม หรือพัฒนาเรื่องที่ได้ฟังอย่างไร
- Breakout rooms (ซึ่งมีอยู่ในเครื่องมือสำหรับการประชุม อย่างเช่น Zoom)
- Whiteboards และกระดานสนทนาออนไลน์ เช่น Whiteboard.chat
- เครื่องมืออื่น ๆ ที่สามารถใช้งานร่วมกันได้ อย่างเช่น Google Docs, Padlet หรือ Miro
Hope and Fears เป็นหนึ่งในเกมยอดนิยมที่ถูกใช้เพื่อแสดงความรู้สึก
หรือความคิดของผู้เรียนว่ามีความคาดหวัง หรือความไม่มั่นใจต่อบทเรียนอย่างไร
1. ขอให้ผู้เรียนเขียนความต้องการและความกลัวสูงสุดของตัวเอง เช่น สำหรับในบทเรียน สำหรับปีนี้ หรือสำหรับช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง
2. สำหรับห้องเรียนออนไลน์ ผู้สอนอาจใช้ Padlet, Ideaboardz หรือ Miro เพื่อใช้งาน Sticky notes ที่มีสีสันแตกต่างกันได้เพื่อแบ่งประเภทของความคาดหวังและความกลัวของผู้เรียน
3. อ่านความคาดหวังก่อน แล้วตามด้วยความกลัวของทุกคน จากนั้นร่วมพูดคุยกันถึงหัวข้อใน Sticky note แต่ละใบ
- Whiteboards และกระดานสนทนาออนไลน์ เช่น Whiteboard.chat
- เครื่องมืออื่นๆ ที่สามารถใช้งานร่วมกันได้ อย่างเช่น Padlet, Ideaboardz หรือ Miro
อีกตัวเลือกหนึ่งที่เหมาะสำหรับการให้ทุกๆ คนได้ทำความรู้จักกันผ่านทางรูปภาพและความคิดสร้างสรรค์คือกิจกรรม Take a Picture of Something
ผู้เรียนและผู้สอนจะได้ทำความรู้จัก และแลกเปลี่ยนมุมมองของกันและกันผ่านทางรูปถ่ายในชีวิตประจำวัน
1. ขอให้ผู้เรียนถ่ายรูปภาพอะไรก็ได้มา 1 อย่าง ผู้สอนสามารถกำหนดธีมที่สอดคล้องกับหัวข้อใดหัวข้อหนึ่งได้ เช่นขอให้ถ่ายรูปรองเท้า หรืออะไรก็ได้บนโต๊ะเขียนหนังสือ หรือวิวนอกหน้าต่างห้องของตัวเอง ผู้สอนควรขอให้ผู้เรียนถ่ายรูปภาพ และอัปโหลดล่วงหน้าก่อนที่จะเริ่มต้นบทเรียนเพื่อประหยัดเวลาในคาบเรียน
2. ขอให้ผู้เรียนแชร์รูปภาพของตนเองผ่านทางกระดานออนไลน์
3. เริ่มพูดคุยกันถึงภาพถ่ายของแต่ละคน อาจตั้งคำถามเช่น ทำไมถึงเลือกที่จะถ่ายภาพสิ่งนั้นมา หรืออะไรเป็นสิ่งที่ชอบที่สุดในวิวที่มองเห็นได้จากหน้าต่างห้องของตัวเอง เป็นต้น
- Whiteboards และกระดานสนทนาออนไลน์ เช่น Whiteboard.chat
- เครื่องมืออื่นๆ ที่สามารถใช้งานร่วมกันได้ อย่างเช่น Padlet, Evernote หรือ Miro
Bingo เป็นอีกหนึ่งกิจกรรม Icebreaking สุดคลาสสิกที่สามารถประยุกต์ใช้ในห้องเรียนออนไลน์ได้ง่ายๆ ในห้องเรียน Face-to-Face แบบดั้งเดิม ผู้สอนจะต้องเตรียมตารางไว้พร้อมกับข้อเท็จจริงที่น่าสนใจเกี่ยวกับคนในห้อง แล้วแจกให้กับผู้เรียน ทุกคนจะเดินไปรอบๆ ห้องแล้วพยายามหาคนที่ตรงกับข้อความที่เขียนเอาไว้ในแต่ละช่อง แต่ผู้สอนสามารถประยุกต์กิจกรรม Bingo ให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของห้องเรียนออนไลน์ได้ง่ายๆ
1. ผู้สอนรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผู้เรียนแต่ละคน ผ่านทางเครื่องมือสร้างแบบสอบถามออนไลน์
2. สร้างตาราง 5x5 โดยใส่ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจเกี่ยวกับผู้เรียนแต่ละคนเอาไว้ในแต่ละช่องของตาราง ตัวอย่างเช่น สามารถพูดได้สองภาษา เคยไปเที่ยวสเปน หรือเรื่องน่าสนใจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อบทเรียน
3. แชร์ไฟล์ตารางกับผู้เรียนก่อนหรือระหว่างบทเรียนก็ได้ โดยสามารถทำได้ผ่านทางอีเมล, ฟีเจอร์แบ่งปันข้อมูลในเครื่องมือออนไลน์สำหรับประชุม หรือเครื่องมือสำหรับเก็บข้อมูลออนไลน์อื่นๆ เช่น Google docs, Dropbox หรือ Evernote ผู้สอนสามารถทำกิจกรรมนี้แบบ Real-time ผ่านทางเครื่องมือ เช่น Padlet, Ideaboardz หรือ Miro
4. ขอให้ผู้เรียนเขียนชื่อลงใต้แต่ละความข้อความที่หมายความถึงตนเอง
5. ผู้เรียนทุกคนแชร์เรื่องราวเกี่ยวกับตัวเองตามที่เขียนในตาราง และพูดคุยแลกเปลี่ยนทำความรู้จักกัน
- Whiteboards และกระดานสนทนาออนไลน์ เช่น Whiteboard.chat
- เครื่องมืออื่นๆ ที่สามารถใช้งานร่วมกันได้ อย่างเช่น Padlet, Evernote หรือ Miro
- เครื่องมือสำหรับสร้างแบบสอบถาม เช่น Survey Monkey, Google Forms, Wiki หรือ Slimwiki
- การส่งอีเมล